สรุปบทความ
เรื่อง เมื่อลูกน้อยเรียนรู้คณิต วิทย์จากเสียงดนตรี
ปัจจุบันการเรียนรู้ระดับปฐมวัยสิ่งที่สำคัญคือ การสร้าง “เจตคติที่ดี” ในการเรียนรู้ของเด็กโดยผ่านกระบวนการจัดการเรียนรู้และกิจกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจของ “โครงการบูรณาการวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีปฐมวัย” โดย สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ในงานเปิดตัวกรอบมาตรฐานและคู่มือการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ปฐมวัย ของ สสวท. ได้มีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การเรียนรู้วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ผ่านดนตรี” เพื่อเป็นตัวอย่างการจัดการเรียนการสอนให้กับครูปฐมวัยที่เข้าร่วมอบรมกว่า 100 คน
วิทยากรเริ่มต้นด้วยการสมมติว่า นี่คือห้องเรียนให้ผู้เข้าอบรม (นักเรียน) ส่งลูกบอลตามจังหวะเพลง พร้อมแสดงท่าทางประกอบ เพื่อสร้างความสนุกสนาน เป็นการนำเข้าสู่บทเรียน จากนั้นชวนผู้เข้าอบรมสังเกตว่า พบอะไรจากกิจกรรมนี้ ซึ่งมีคำตอบหลากหลายเช่น ความหนัก-เบา ความเร็ว-ช้า ความตื่นเต้น สนุกสนาน ได้ใช้สมาธิในการฟัง การใช้ประสาทสัมผัส เป็นต้น จากนั้นชวนตั้งคำถามต่อว่า “ร่างกายของเราจะทำให้เกิดเสียงได้หรือไม่?” ผู้เข้าอบรมจะพยายามหาคำตอบจากการทดลองปฏิบัติจากร่างกายตนเองว่า เสียงเกิดขึ้นได้จากการกระทำอย่างไรได้บ้าง เช่น การสั่น การตี การดีด หลังจากนั้น เริ่มนำอุปกรณ์ต่างๆที่ใช้ในชีวิตประจำวันเข้ามาร่วม เช่น ช้อน ตะเกียบ ขวดเล็ก ขวดใหญ่ ลูกแก้ว ถั่วเขียว เป็นต้น และชวนผู้เข้าร่วมอบรมสร้างเสียงจากอุปกรณ์เหล่านี้ และตั้งคำถามต่อไปเรื่อยๆว่า อุปกรณ์ต่างๆกันเสียงต่างกันหรือไม่ อย่างไร จากนั้นนำประสบการณ์ที่ได้มาชวนพูดคุยว่าได้เรียนรู้เรื่องอะไรบ้าง ทำให้ผู้เข้าอบรมสามารถสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง จากการลงมือปฏิบัติจริง แล้วชวนทำกิจกรรม “ร้องรำทำเพลง” คือ การชวนฝึกร้องเพลงตามจังหวะร่วมกัน แล้วชวนตั้งคำถามว่า พบอะไรจากเพลงนี้ ผู้เข้าอบรมจะสามารถตอบได้จากประสบการณ์ตรงของตัวเองเช่น มีเสียงสูง เสียงต่ำ เสียงเบา เสียงค่อย เสียงสั้น เสียงยาว จากนั้นนำจังหวะเหล่านี้มาแทนค่าด้วยสัญลักษณ์ต่างๆ เช่น สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม เพื่อให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับรูปทรงคณิตศาสตร์จากเสียงดนตรี ทำให้การเรียนรู้ของเด็กเป็นเรื่องสนุกสนาน และไม่ถูกยัดเหยียดด้วยแบบฝึกหัด หรือคำบรรยายของครู เพราะการเรียนรู้ทุกอย่างจะทำผ่านกิจกรรมในการลงมือปฏิบัติ จะเห็นได้ว่า ดนตรีสามารถนำมาเชื่อมโยงกับวิชาต่างๆได้ แม้แต่คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้
สาระสำคัญของการเรียนการสอนในรูปแบบนี้คือ “กระบวนการ” จะไม่มีการบรรยาย ความรู้ที่เด็กได้รับมาจากการปฏิบัติจริง ครูเป็นผู้สร้างคำถาม เด็กลงมือปฏิบัติเพื่อหาคำตอบ และนำมาสรุปร่วมกัน จะเน้นให้เด็กได้คิด ได้ตั้งคำถาม เด็กเห็นขวด 1 ใบจะทำให้เกิดเสียงได้อย่างไร เด็กต้องมาคิดต่อ มาสืบเสาะหาความรู้ เด็กจะรู้จักการสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง เปลี่ยนจากครูเป็นศูนย์กลาง เป็นการให้เด็กเป็นศูนย์กลางแทน
การนำดนตรีเข้ามาเป็นตัวดำเนินกิจกรรมนั้น เสียงของคนตรีทำให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องของวิทยาศาสตร์ เช่น กำเนิดเสียงเกิดจากอะไร เกิดได้อย่างไร ส่วนจังหวะของดนตรีเป็นการเรียนรู้เรื่องคณิตศาสตร์ได้ ซึ่งกิจกรรมในรูปแบบนี้ทำให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และดนตรี กิจกรรมนี้ สสวท.ต้องการทำเป็นตัวอย่างการเรียนการสอนให้แก่คุณครูปฐมวัย ให้เห็นว่าวิทย์-คณิตนั้นสอดแทรกเรื่องดนตรีได้อย่างไร ซึ่งครูแต่ละคนจะต้องนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละช่วงวัยด้วยตนเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น